คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่? ว่าปัจจุบันนี้หลักสูตรการเรียนเขียนโปรแกรมหรือ Coding สำหรับเด็ก กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ปกครองทั่วโลกและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายประเทศเริ่มบรรจุพื้นฐานการเขียนโปรแกรมลงในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ เช่น อเมริกา จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ สิงคโปร ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ ทำไมประเทศต่าง ๆ เหล่านี้จึงเล็งเห็นความสำคัญของการเรียนเขียนโปรแกรม ทักษะใดบ้างที่ถูกเสริมสร้างขึ้นจากศาสตร์แขนงนี้ มาดูกันค่ะ
การแก้ปัญหานั้นสามารถเรียกได้ว่าเป็นแก่นของการเขียนโปรแกรมเลยก็ว่าได้ โดยส่วนมากแล้วการสร้างโปรแกรมขึ้นมาโปรแกรมหนึ่งย่อมมีจุดประสงค์เพื่อการทำงานหรือแก้ปัญหาบางอย่าง ในขั้นตอนก่อนลงมือเขียนโปรแกรมนั้น ผู้เขียนโปรแกรมจำเป็นต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการปกติของมนุษย์เสียก่อน จากนั้นจึงแปลงวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นให้อยู่ในรูปแบบของชุดขั้นตอนการแก้ปัญหา (Algorithm) ที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจและทำงานได้ สุดท้ายแล้วจึงลงมือเขียนโปรแกรมหรือโค้ดดิ้งตามขั้นตอนเหล่านั้นเพื่อสร้างโปรแกรมขึ้นมา
ในส่วนของขั้นตอนการลงมือเขียนโปรแกรมเองก็ใช้ทักษะในการแก้ปัญหาเช่นกัน แน่นอนว่าผู้เขียนโปรแกรมต้องเขียนชุดคำสั่งเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามขั้นตอนในการแก้ปัญหาที่ออกแบบไว้ แต่ด้วยความซับซ้อนและละเอียดอ่อนของงาน จึงทำให้ผู้เขียนโปรแกรมต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ตลอดเวลา ผู้เรียนเขียนโปรแกรมหรือแม้แต่โปรแกรมเมอร์มืออาชีพจะคุ้นเคยกับการอยู่ในวังวนของการพบปัญหา การสืบหาต้นตอของปัญหา (debugging) การคิดวิธีแก้ปัญหา การวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโปรแกรมโดยรวม ก่อนจะลงมือแก้ปัญหาจริง ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เองที่หล่อหลอมให้นักพัฒนาโปรแกรมหรือผู้เรียนเขียนโปรแกรมนั้นเป็นนักวิเคราะห์และแก้ปัญหาตัวยง
การคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) เป็นกระบวนการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อให้ได้แนวทางหาคำตอบอย่างเป็นขั้นตอนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยบุคคลหรือคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง การคิดเชิงคำนวณสามารถช่วยทำให้ปัญหาที่ซับซ้อนเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ในระยะยาว
การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นงานที่ต้องใช้ความมุ่งมั่นและอดทน เนื่องจากเป็นงานที่มีความละเอียดและเต็มไปด้วยตรรกะความคิด เสมือนการสร้างกลไกเครื่องจักรกลขึ้นจากการร้อยเรียงตัวอักษร งานซับซ้อนเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึงได้ตลอดเวลา การไม่ยอมแพ้ต่อปัญหานับร้อยที่เกิดขึ้นระหว่างทางจะเป็นเครื่องมือฝึกความอดทนของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นไอเดียในการนำซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน การออกแบบโปรแกรม หรือการออกแบบตรรกะวิธีการแก้ปัญหา (Algorithm) ต่างต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งสิ้น ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่จำเป็น และสามารถเสริมสร้างได้เป็นอย่างดีด้วยการเรียนเขียนโปรแกรม
ผู้ที่มีทักษะในการเขียนโปรแกรมจะเข้าใจธรรมชาติในการทำงานของซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายในชีวิตประจำวันของเราได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีมุมมองแบบคอมพิวเตอร์ซึ่งแตกต่างจากมุมมองของมนุษย์ มุมมองแบบคอมพิวเตอร์นี้เองที่ช่วยให้เราเข้าใจพื้นฐานการทำงานของโปรแกรม เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ สามารถมองภาพรวมและความเชื่อมโยงของระบบ จึงช่วยส่งเสริมทักษะความสามารถด้านไอทีได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในโลกยุคใหม่ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดก็ตาม
ประโยชน์โดยตรงอีกเรื่องหนึ่งของการเรียนเขียนโปรแกรมคือทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพในสาขาไอทีโดยตรง เช่น Software Engineer, Programmer, Data Scientist, System Analyst และอื่น ๆ รวมถึงอาชีพใหม่อีกมากมายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ทักษะการเขียนโปรแกรมหรือ Coding ยังเป็นข้อได้เปรียบกับผู้ที่ประกอบอาชีพในสายงานอื่น ๆ เช่นกัน และจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ในการเขียนโปรแกรมต้องพบกับอุปสรรคที่ยากและท้าทายอย่างแน่นอน อุปสรรคเหล่านี้เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ใช้ความมุ่งมั่นและอดทน ได้ค้นพบแนวความคิดใหม่ ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองในที่สุด